คนมีรถ จำเป็นต้องดูแลรถเป็นพิเศษ และควรหมั่น ตรวจเช็คสภาพรถ อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบดูว่ารถยนต์ของเรามีส่วนไหนที่ชำรุดเสียหายต้องซ่อมหรือเปล่า มีของเหลวอะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายบ้าง รถยนต์ยังใช้งานอยู่ในสภาพดีหรือควรต้องดูแลตรงไหนเพิ่มเติมอีกบ้าง เรามาดูวิธีตรวจเช็คสภาพรถเบื้องต้นง่ายๆ ด้วยตัวเอง ใครๆ ก็ทำได้
ตรวจเช็คสภาพรถ ระบบเบรก
ระบบเบรกเป็นสิ่งสำคัญในการขับรถ เพราะถ้าหากขับรถไปแล้วเกิดเบรกไม่ทัน เบรกค้าง เบรกไม่อยู่ ก็อาจไปชนคนข้างหน้าหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ก็ควรหมั่นตรวจเช็คระบบเบรกของเราว่ามีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า ลองเหยียบเบรกแล้วฟังเสียง ว่ามีเสียงดังผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ ถ้ามีเสียงก็เป็นไปได้ว่าผ้าเบรกอาจจะหมดหรือสึกไป ทำให้เบรกจับได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ควรเปลี่ยนผ้าเบรก และเช็คน้ำมันเบรกว่ายังมีปริมาณเท่าเดิมหรือไม่
แบตเตอรี่รถยนต์
แบตเตอรี่รถยนต์ก็มีอายุการใช้งาน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจมีอาการแบตเสื่อม ซึ่งมีผลต่อการจ่ายไฟไปในรถไม่ทั่วถึง อาจทำให้รถมีอาการรวนต่างๆ เช่น รถสตาร์ทไม่ติด การขับเคลื่อนทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น ดังนั้นหากรถเกิดอาหารติดขัดอะไรบางอย่างต้องดูแล้วว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์หรือไม่ หรือถ้าใช้แบตเตอรี่แบบน้ำหรือกึ่งผสม ก็ควรเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในปริมาณที่พอดี อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง รวมไปถึงการตรวจเช็คอื่นๆ เช่น ขั้วแบตหลวม เช็คคราบขี้เกลือที่อยู่ตรงขั้วแบต ฉนวนหุ้มสายขั้วแบต เป็นต้น
ระบบหล่อเย็น
ระบบหล่อเย็นในหม้อน้ำรถยนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องคอยเปิดฝาหม้อน้ำดูว่าน้ำยังอยู่เต็มหรือเปล่า และทางที่ดีควรใช้น้ำยาหล่อเย็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยลดอุณหภูมิภายในเครื่องยนต์ และควรเปลี่ยนน้ำยาหล่อเย็นตามกำหนด เปลี่ยนทุก 1-2 ปี หรือใครที่เดินทางบ่อยๆ ก็เปลี่ยนตามระยะทางเช่น ตามกำหนดทุก 40,000 กิโลเมตร 100,000 กิโ่ลเมตร เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่รุ่นรถที่ใช้งาน
น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องเป็นส่วนหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นน้ำมันเครื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรตรวจเช็ค วิธีการเช็คง่ายๆ คือดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องขึ้นมาดูความใสว่าน้ำมันเครื่องดำหรือยัง นำผ้าเช็ดก้านแล้ววัดอีกครั้ง แล้วดูปริมาณน้ำมันเครื่องว่าพร่องลงไปบ้างหรือเปล่า ถ้าลดลงไปหรือดำแล้วก็ควรเปลี่ยน หรือเปลี่ยนตามจำนวนระยะทางที่กำหนดไว้ในน้ำเครื่องแต่ละชนิดว่า วิ่งไปกี่กิโลเมตรแล้วต้องเปลี่ยน เช่น 5,000 กม. 10,000 กม. เป็นต้น
ระบบสัญญาณไฟ
ระบบสัญญาณไฟ ควรเช็คให้ครบว่ามีหลอดไฟดวงไหนไฟขาด ไฟยังติดครบทุกดวง อาจเป็นไปได้ว่าหลอดขาด หรือระบบไฟขาด ฟิวส์ขาด จะได้ซ่อมหรือเปลี่ยนให้เรียบร้อย และตำแหน่งหลอดไฟอยู่สูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่ ถ้ามีก็ควรขยับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ยางรถยนต์
ยางรถยนต์เป็นสิ่งที่จะต้องพาเราเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา คงไม่ดีแน่ถ้าหากยางรถยนต์เสื่อมสภาพ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ควรหมั่นตรวจเช็คว่าเนื้อยางแข็งไป หรือดอกจางสึกมากไปหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นควรต้องเปลี่ยนยางใหม่ หากยังใช้งานไม่มากก็สลับยางหลังมาหน้า และการเติมลมยางก็สำคัญ แข็งไปก็จะยึดเกาะถนนลำบาก อ่อนไปไม่ดี ส่วนจะเติมลมยางที่ระดับเลขอะไรนั้น ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในคู่มือรถยนต์ และมีเขียนติดไว้ภายในรถ หากใครไปเปลี่ยนยางก็อย่าลืมเช็คน็อตล้อด้วยว่าขันแน่นดีแล้ว
เช็คช่วงล่าง
เป็นคนขับรถจะเช็คช่วงล่างยังไง แนะนำจุดสังเกตง่ายๆ ที่ตรวจเช็คก่อนเอารถเข้าศูนย์ ดังนี้ เช็คพวงมาลัยรถว่าอยู่ตรง หากแล่นไปโดยไม่ขยับพวงมาลัย รถไม่แล่นกินเลนซ้ายหรือเลนขวา ขับรถไปได้ยินเสียงกุกกักผิดปกติหรือไม่ ถ้าได้ยินเสียงอาจเป็นไปได้ว่าช่วงล่างมีปัญหา เช่น ลูกหมากหลวม ลูกหมากแตก หรือขับไปลงหลุมหรือขึ้นสะพานแล้วรถยวบผิดปกติ อาจมีปัญหาที่โช้ค
แค่นี่เราก็ ตรวจเช็คสภาพรถ ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยที่บางอาการเราสามารถแก้ไขได้เองโดยไม่ต้องนำรถเข้าศูนย์หรือเข้าอู่ และหากมีอาการน่าสงสัยก็จะได้ส่งซ่อมได้ทัน