ซื้อน้ำมันเครื่อง แบบไหนดี? ให้เหมาะสมกับรถยนต์ของคุณ…
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาเราเอารถเข้าศูนย์เพื่อเช็คระยะตามรอบที่กำหนด ถึงมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอยู่แทบทุกครั้ง ทำไมต้องเปลี่ยนบ่อยจัง? ไม่เปลี่ยนได้ไหม? ถ้าไม่เปลี่ยนจะเป็นยังไง ส่งผลยังไง? ควร ซื้อน้ำมันเครื่อง แบบไหนดี? บทความนี้มีคำตอบ
เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า น้ำมันเครื่อง คืออะไร?
น้ำมันเครื่อง คือ สารหล่อลื่นที่คั่นกลางระหว่างผิวของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่เป็นเหมือนฟิล์มที่เคลือบชิ้นส่วนโลหะ ช่วยลดการเสียดสีและการสึกหรอของวัตถุโลหะ ช่วยระบายความร้อนให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ป้องกันการเกิดสนิม การกัดกร่อน คราบเขม่า และการสะสมสิ่งสกปรกที่อาจทำให้เกิดการอุดตันภายในชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนและปล่อยไว้เรื่อยๆ ใช้งานไปเรื่อยๆ น้ำมันเครื่องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ไม่สามารถไหลเวียนและให้การหล่อลื่นกับเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆว่า น้ำมันเครื่องเปรียบเสมือนเลือดที่คอยล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ของเราให้ทำงานได้เต็มที่ เอาละที่นี้มาดูประเภทของน้ำมันเครื่องกัน
ประเภทของน้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องจะมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1. น้ำมันแร่ (Mineral oil) คือ น้ำมันเครื่องที่ผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ เรียกง่ายๆ น้ำมันเครื่องธรรมดาๆ ซึ่งราคาจะต่ำสุด
2. น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic oil) คือ น้ำมันเครื่องที่ผลิตจากน้ำมันแร่ผสมกับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ประสิทธิภาพดีกว่าน้ำมันแร่ และราคาไม่สูงเท่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์
3. น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully synthetic oil) คือ น้ำมันเครื่องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีทางเคมี กลั่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ประสิทธิภาพและราคาก็จะสูงกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่นๆ
เกรดของน้ำมันเครื่อง
มาตรฐาน API (American Petroleum Institute Standard) เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการแบ่ง API ออกเป็น 2 ประเภท คือ
API S คือ น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน S ย่อมาจาก Spark Ignition หรือการจุดระเบิดด้วยประกายไฟจากหัวเทียน
API C คือ น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล C ย่อมาจาก Compression Ignition หรือการจุดระเบิดด้วยแรงอัด
ค่ามาตรฐานทั้ง 2 แบบนี้ จะมีอักษรต่อท้าย ซึ่งหมายถึงเกรดคุณภาพของน้ำมันนั้นๆ โดยเริ่มจากตัว A ซึ่งหมายถึงคุณภาพต่ำสุดและไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น API SN หรือ API CF-4 (เลข 4 จะหมายถึงใช้กับเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ) นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันเครื่องบางชนิดที่อาจใช้ได้ทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เช่น API SL / CG-4 วิธีดูก็คือตัว S หรือ C ตัวไหนขึ้นก่อนแสดงว่าเหมาะกับเครื่องยนต์นั้นๆ จากตัวอย่าง S ขึ้นก่อนเพราะเกรดคุณภาพทางเบนซินเหนือกว่า
ความจริงแล้วความหนืด ไม่ได้เป็นตัวบอกคุณภาพของน้ำมันเครื่องนั้นๆ เราควรเลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดที่เหมาะสมกับสภาพของเครื่องยนต์ และสภาพการใช้งาน เช่น หากรถของเราเป็นรถใหม่ ก็ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีเบอร์ความหนืดน้อยๆ จะช่วยในการประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น เช่น ของยูคอน แต่หากรถเราเก่าแล้ว และมีอาการกินน้ำมันเครื่อง ก็ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีเบอร์ความหนืดที่ข้นมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาการกินน้ำมันเครื่อง เช่น SAE 10W-40 หรือ
หากใครยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกแบบไหนดี สามารถตรวจสอบได้จากเอกสารคู่มือรถว่า รถของเราควรใช้น้ำมันเครื่องที่มี API เกรดไหน และไม่ควรใช้เกรดต่ำกว่านั้น
ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง
SAE (The Society of Automotive Engineer) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของอเมริกา เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานความหนืดของน้ำมันเครื่องยนต์ โดยแบ่งเป็น
- เกรดเดี่ยว เช่น SAE 30, SAE 40, SAE 50
- เกรดรวม เช่น SAE 5W-30, 10W-40, 15W-50
ความหนืด คือความข้นใสของน้ำมันเครื่อง ยิ่งเบอร์น้อย จะยิ่งมีความใสมาก เช่น เกรดเดี่ยว SAE 30 จะใสกว่า SAE 50 หรือเกรดรวม 10W-40 จะใสกว่า 15W-50 สำหรับค่าความหนืดจะดูจากเลขท้ายเป็นหลัก โดยประกอบด้วยตัวเลข 2 ชุด คือ SAE XW-XX
ตัวเลขชุดหน้า แสดงถึงการวัดค่ามาตรฐานในเขตหนาว (สัญลักษณ์ W- Winter Grade) จะเป็นการวัดค่าต้านทานการเป็นไข โดยวัดตั้งแต่อุณหภูมิ 20 องศาเซสเซียส ต่ำลงมาจนถึง -30 องศาเซสเซียส โดยสรุป ได้คือ
- 0W คือ ความสามารถคงความข้นใสไว้ได้ต่ำกว่า -30 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 5W คือ ความสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -30 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 10W คือ ความสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -20 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 15W คือ ความสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -10 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 20W คือ ความสามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง 0 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
ส่วนตัวเลขชุดหลัง จะหมายถึง การวัดค่าความหนืดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซสเซียส แทนค่าออกมาเป็นตัวเลขเรียกว่า เบอร์ของน้ำมันเครื่อง เช่น 30, 40, 50 ยิ่งตัวเลขมากแสดงว่า น้ำมันมีความหนืดน้ำมันที่มากขึ้น
น้ำมันเครื่องทั้ง 3 ประเภท ต่างกันยังไง?
ข้อแตกต่างของทั้ง 3 ประเภทนี้ก็คือ โครงสร้างของโมเลกุลในตัวน้ำมันเครื่องที่มีการยึดตัวเกาะกัน ทำให้น้ำมันเครื่องสามารถคงความหนืดในลักษณะการเป็นฟิล์มได้นานต่างกัน สรุปง่ายๆก็คือ ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องต่างกันนั่นเอง
ระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เป็นสิ่งที่สำคัญ เหมือนกับการออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง เครื่องยนต์ก็เช่นกัน และจะมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุดตลอดการใช้งานก็คือ “น้ำมันเครื่อง” ถ้าคุณไม่ใส่ใจและใช้งานต่อไปเรื่อยๆ น้ำมันก็จะเสื่อมสภาพ การหล่อลื่นภายในจะแย่ลง สุดท้ายก็ต้องซ่อมหมดเป็นหมื่นๆ จะมีคำพูดดังในใจคุณเลยว่า รู้งี้! เปลี่ยนดีกว่า เอาละ เรามาดูกันเลยว่าควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตอนไหนดี ? แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเราใช้น้ำมันเครื่องประเภทใด โดยปกติหากนำรถเช็คระยะที่ศูนย์ฯ ช่างจะเก็บแกลลอนเอาไว้ให้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนถ่ายให้จริงๆ
- น้ำมันแร่ (Mineral oil) จะใช้งานได้ระยะทางประมาณ 3,000-5,000 กม. หรือ 4 เดือน
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) ใช้งานได้ประมาณ 5,000-8,000 กม. หรือ 6 เดือน
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) ใช้งานได้ประมาณ 10,000-15,000 กม. หรือ 9 เดือน