น้ำมันเครื่อง หมายถึง น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายใน ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล โดยทำหน้าที่หล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนไหวภายในระบบเครื่องยนต์ เช่น ลูกสูบ เพลาข้อเหวี่ยง เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน ป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์ และช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ “ประเภทน้ำมันเครื่อง” มีมากมายหลายประเภท หลายเกรด สำหรับใช้กับเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องยนต์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกน้ำมันเครื่อง เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนถ่าย
ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง
ประเภทน้ำมันเครื่อง มีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทน้ำมันเครื่องได้ 3 แบบ ได้แก่
ประเภทน้ำมันเครื่อง แบ่งตามชนิดของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
- น้ำมันเครื่องธรรมดา ที่ผลิตจากน้ำมันแร่
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ที่ผลิตจากน้ำมันแร่และน้ำมันพื้นฐานสังเคราะห์ในสัดส่วนต่างๆกัน
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ที่ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานสังเคราะห์
น้ำมันเครื่องธรรมดา จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์มาก เพราะว่ามีคุณสมบัติด้านความทนทานต่อสภาพการใช้งานที่อุณหภูมิสูงๆ ได้ต่ำกว่า ทำให้คุณสมบัติด้านการหล่อลื่นที่อุณหภูมิสูงลดลง แต่ราคาน้ำมันเครื่องธรรมดาจะต่ำกว่าน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์มาก ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าใช้น้ำมันเครื่องชนิดไหนแล้วจะคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายกับราคาน้ำมัน
แบ่งตามชนิดความหนืด
สิ่งสำคัญในการป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนต่างๆในระบบเครื่องยนต์ก็คือ “ความหนืด” น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดต่ำจะไม่สามารถคงสภาพเป็นฟิล์มบางๆ แทรกระหว่างผิวของโลหะได้ หรือถ้าความหนืดมากไปปั๊มก็ไม่สามารถดูดไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว โดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ SAE ได้วางมาตรฐานโดยแบ่งตามค่าความข้นใส หรือความหนืด ได้แก่ SAE 0W, 5W, 10W, 15W, 20W, 25W อักษร W สำหรับใช้ในเขตหนาว และ SAE 20, 30, 40, 50, และ 60 สำหรับในเขตร้อน ตัวเลขมากยิ่งความหนืดสูง
- น้ำมันเครื่องเกรดรวม เป็นการพัฒนาน้ำมันเครื่องให้สามารถใช้งานได้ทั้งในสภาพอากาศร้อนและเย็น น้ำมันเครื่องเกรดรวมจะมีค่าดัชนีความหนืดสูงสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดี เช่น SAE 10W-30, 15W-40, 20W-50
แบ่งตามชั้นคุณภาพด้านการใช้งาน
มาตรฐาน API โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดมาตรฐานน้ำมันเครื่องโดยแบ่งตามประเภทเครื่องยนต์ ได้แก่
- น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน จะใช้อักษร S (Station Service) นำหน้ามาตรฐาน API ได้แก่ API SA, SB, SC, SE, SF, SG, SH, SJ, SL, SM, และสูงสุดในปัจจุบันคือ SN โดย A-N เป็นการแบ่งระดับชั้นคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ได้พัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น
- น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จะใช้อักษร C (Commercial Service) นำหน้ามาตรฐาน API ได้แก่ API CA, CB, CC, CD, CD-II, CE, CF-4, CF, CF-2, CG-4, CH-4, CI-4, CI-4 PLUS และสูงสุดในปัจจุบันคือ CJ-4
ทั้งหมดนี้เป็น ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเภทน้ำมันเครื่องที่ควรจะทราบ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกน้ำมันเครื่อง ว่าน้ำมันเครื่องชนิดไหนเหมาะสมกับเครื่องยนต์ของเรา ส่วนในเรื่องของราคาเป็นสิ่งที่อาจจะเลือกพิจารณาในลำดับสุดท้ายก็ได้ นอกจากนี้สถานที่จำหน่าย ควรเป็นสถานที่เปิดเผย และเชื่อถือได้