การดัดแปลงรถส่วนไหนบ้างที่ผิดกฎหมาย? เรามักพบเห็นรถแต่ง บนท้องถนนกันอยู่บ่อยๆ ขับด้วยความเร็วบ้าง ท่อดังบ้าง แต่การแต่งรถ ดัดแปลงสภาพรถไม่ว่าจะเป็นภายนอก หรือภายใน ควรระวังอย่างมาก เพราะเป็นการกระทำที่ผิดข้อกฎหมาย และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนได้ สำหรับสายแต่ง สายโมรถ หรือท่านที่กำลังจะแต่งรถ อาจยังไม่รู้ว่าการดัดแปลงแต่งเติมส่วนไหนของรถที่ผิดกฎหมายบ้าง มาดูกันเลย
การดัดแปลงรถส่วนไหนบ้างที่ผิดกฎหมาย
- ป้ายทะเบียน
ป้ายทะเบียนที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบก มักมีการนำมาดัดแปลงตัดต่ออัดกรอบใหม่เป็นป้ายยาวขึ้น การปรับเปลี่ยนแปลงร่างป้ายทะเบียนซึ่งถือเป็นเอกสารของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถเรียกปรับไม่เกิน 2,000 บาท
หากติดป้ายทะเบียนแหงนขึ้นหรือพับลง มีวัสดุมาปิดทับจนเห็นป้ายทะเบียนไม่ชัดเจน ก็มีโทษปรับเช่นเดียวกันกับการไม่ติดป้าย หรือวางไว้ที่กระจกหน้ารถ มีความผิดเช่นกันโทษปรับ 500 บาท
ส่วนการติดป้ายที่ทำขึ้นเอง เช่น ทำด้วยกระดาษหรือใช้การเขียน แต่หมายเลขตรงกับทะเบียนรถ จะมีความผิดข้อหา ไม่ใช้เอกสารที่ทางราชการกำหนด แต่ถ้าเป็นป้ายปลอมที่ทำขึ้นเอง โดยไม่มีตราประทับของกรมการขนส่งทางบก เมื่อตำรวจจราจรขอตรวจดูสำเนาแล้วไม่ตรงกับป้าย จะต้องคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ เจ้าหน้าที่อาจจะเรียกปรับ หรือส่งฟ้องเพื่อทำการเรียกปรับที่ชั้นศาล โดยระบุโทษไว้ที่ 100,000 บาท
หากหมายเลขป้ายทะเบียนไม่ตรงกับป้ายวงกลม รวมถึงยังไม่ตรงกับสำเนารถ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ยึดรถ เพื่อส่งเข้ากองพิสูจน์หลักฐาน หาที่มาของตัวรถและผู้ขับขี่ต้องไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ ส่งให้ศาลตัดสินค่าปรับ
- โหลดเตี้ยแบบรถแข่ง
ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รถสามารถโหลดเตี้ยแค่ไหนก็ได้ โดยยึดหลักการวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร ถ้าต่ำกว่าถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าไฟหน้าสูงกว่าแต่ใส่สปอยเลอร์จนแทบจะลากพื้น จะใช้กฎการพินิจจากเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพกรมการขนส่งทางบก และผู้วินิจฉัยผล ตรอ. ว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ ถ้าใช่จะมีความผิดทันที
- ยกสูงแบบ Big Foot
ในพระราชบัญญัติรถยนต์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การยกสูงสามารถทำได้ โดยวัดระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร การปรับแต่งรถแบบยกสูงมากนั้น ต้องมีหนังสือจากวิศวกรรับรองการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกว่ามีการดัดแปลง เพื่อใช้งานในเขตทุรกันดาน
ถ้ายกไม่สูงมาก แต่ใส่ยางใหญ่เกินจนล้นออกมาข้างตัวรถ เกินบังโคลนล้อ ก็ต้องใช้หลักดุลพินิจอีกเช่นกันว่า เสี่ยงต่อผู้ร่วมใช้ถนนหรือไม่ ถ้าใช่จะมีความผิดทันที
- ล้อรถยนต์
ในกฎหมายไม่มีการระบุขนาดของล้อ จะใส่ล้อใหญ่ขอบเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าใส่แล้วยางล้นเกินออกมานอกบังโคลนล้อหลายนิ้ว หรือใส่ล้อใหญ่จนต้องแบะล้อเพื่อหลบซุ้ม เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบ อาจพิจารณาว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นความผิดได้
- ฝากระโปรงหน้า–หลัง
ส่วนมากจะนิยมเปลี่ยนฝากระโปรง ให้เป็นแบบคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อเพิ่มความสวยงาม หากทำเป็นสีเดียวกับสีรถที่จดทะเบียนไว้ถือว่าไม่ผิด และหากเปลี่ยนสีฝากระโปรงเป็นสีอื่นที่ไม่ตรงกับสีตัวรถ โดยสีอื่นต้องมีไม่เกินครึ่งหนึ่ง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ ก็ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเปลี่ยนทั้งฝากระโปรงหน้าและหลัง ส่วนมากเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าผิด เพราะอาจเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของสีหลัก ซึ่งเจ้าของรถต้องนำรถไปแจ้งเปลี่ยนสี กับกรมการขนส่งทางบก ถ้าไม่แจ้งก็อาจต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ท่อไอเสีย
เมื่อตรวจวัดระดับเสียงที่ปลายท่อไอเสีย ด้วยเครื่อง Sound level Meter ผลที่ได้ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล และไม่ว่าจะเปลี่ยนท่อไอเสียเป็นไซส์ไหนจะต้องมีท่อพัก และปล่อยควันออกทางท้ายรถเท่านั้น ห้ามออกข้างตัวถังเด็ดขาด นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้งานเกิน 7 ปี จะต้องตรวจวัดระดับเสียงที่ปลายท่อไอเสีย ที่สถานตรวจสภาพว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่
- ระบบไฟภายนอกตัวรถ
สีของไฟหน้ารถที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีเหลืองอ่อนและสีขาว ถ้าเป็นสีอื่นจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟหยุด(ไฟเบรค) ต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ไฟส่องป้ายต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไกลไม่น้อยกว่า 20 เมตร ส่วนไฟซีนอนที่กำลังส่องสว่างแรงสูงถือว่าผิดกฎหมาย เพราะรบกวนทัศนวิสัยของผู้ร่วมทาง
- การต่อเติมของรถกระบะ
การต่อเติมที่ผู้ใช้รถกระบะนิยมปรับแต่ง เช่น การเพิ่มแหนบรองรับน้ำหนัก ต่อเติมส่วนกระบะด้านบนเพื่อการบรรทุก การต่อเติมหลังคา จะต้องแจ้งกับทางกรมขนส่ง โดยมีใบรับรองจากวิศวกร โดยจะต้องใช้เอกสารใบเสร็จการติดตั้งด้วย
สำหรับการติดตั้งรถกระบะให้เป็นรถโรงเรียน หรือรถสองแถวรับจ้าง ก็ควรติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการชน และป้องกันผู้โดยสารตกจากรถ รวมถึงจะต้องติดตั้งไฟสัญญาณเป็นสีเหลืองอำพันรอบคันเพื่อให้มองเห็นในระยะ 150 เมตร ไม่บดบังไฟเบรกและไฟเลี้ยว หากเป็นรถสองแถวตัวคนขับเองก็จะต้องได้รับการอบรมใบขับขี่สาธารณะด้วย