เคล็ดลับการเดินทางไกล ระหว่างตั้งครรภ์? การออกเดินทางไกล หรือท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารส่วนใหญ่ มักจะมีอาการเมื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย มีความอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ด้วยสรีระร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา หากมีการนั่งเป็นเวลานาน อาจมีอาการปวดหลังตามมา ในการเดินทางแต่ละครั้ง ต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ น้องยูคอน จึงมีเคล็ดลับการเดินทางไกลระหว่างตั้งครรภ์มาฝาก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคุณแม่และลูกน้อย
เคล็ดลับการเดินทางไกล ระหว่างตั้งครรภ์
- การคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง
เป็นสิ่งแรกที่สำคัญมากต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ก่อนออกเดินทางควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้อง โดยจัดตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยพาดในแนวทแยงให้อยู่ระหว่างหน้าอกลงไปตามแนวโค้งของท้อง โดยพาดสายเข็มขัดในแนวนอนให้อยู่เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน ปรับสายเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ ไม่บิดเป็นเกลียว เพื่อป้องกันแรงกระชาก หลังจากนั้นเสียบหัวเข็มขัดเข้ากับตัวล็อก ไม่ให้สายเข็มขัดรัดแน่นจนเกินไป และข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ ห้ามให้เข็มขัดนิรภัยขึ้นมาอยู่บริเวณหน้าท้องโดยเด็ดขาด อาจใช้หมอนใบเล็ก รองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยได้
หากสายเข็มขัดนิรภัยยาวไม่พอสำหรับคุณแม่ที่มีครรภ์ขนาดใหญ่ ควรจะหลีกเลี่ยงโดยสารรถคันนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือคนขับก็ตาม เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ถึงต้องคาดเข็มขัดนิรภัย?
จากรายงานวิจัยหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย มีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกมีน้ำหนักตัวน้อย 1.3 เท่า, มีโอกาสเลือดออกมากขณะคลอด 2.1 เท่า และทารกเสียชีวิตมากเป็น 2.8 เท่า เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่คาดเข็มขัดนิรภัย นอกจากนี้ คุณแม่มีโอกาสแท้งลูกสูงถึง 3 เท่า และเลือดตกในถึง 2 เท่า หากเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ แม้จะชนไม่แรง ก็ยังมีโอกาสแท้งลูกถึง 5% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การคาดเข็มขัดนิรภัยนอกจากจะลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุให้กับคุณแม่แล้ว ยังช่วยลดและป้องกันอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
- ปรับเบาะนั่งให้เหมาะสม
เนื่องจากขนาดหน้าท้องคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จึงควรมีการปรับเบาะที่นั่งให้เหมาะสม หากคุณแม่เป็นคนขับ ควรปรับที่นั่ง ให้ถอยห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 เซนติเมตร ปรับเบาะให้เอนกว่าเดิมเล็กน้อย และปรับพวงมาลัยสูงขึ้น เพื่อป้องกันหากเบรกกะทันหัน หน้าท้องจะได้ไม่กระแทกกับพวงมาลัย รวมถึงตัวแอร์แบ็กจะได้ไม่กระแทกใส่หน้าท้องคุณแม่อีกด้วย สำหรับคุณแม่นั่งที่เบาะหน้าข้างคนขับ ควรปรับเบาะนั่งให้เอนไปทางด้านหลังมากที่สุดเช่นกัน ในการปรับที่นั่ง ควรปรับให้เข้ากับการนั่งที่รู้สึกสบาย และสามารถควบคุมคันเร่งและเบรกได้เต็มที่ หากเป็นไปได้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขับขี่รถยนต์ด้วยตนเอง ควรนั่งในตำแหน่งเบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยมากที่สุด อาจใช้หมอนอิงหนุนหลังและหมอนรองคอ เพื่อลดอาการวดหลังและปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ อาการชาบริเวณขา เคลื่อนไหวลำบาก เป็นตะคริวบ่อย ๆ ก็ควรหยุดขับรถ
- ควรจอดพักอย่างสม่ำเสมอ
ระหว่างการเดินทางในระยะไกล ควรมีการจอดพักอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณแม่และเด็กในครรภ์ได้ผ่อนคลาย ยืดเส้นยืดสาย เพราะการนั่งรถเดินทางไกลเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เท้าและข้อเท้าของคุณแม่มีอาการบวมได้ง่าย ควรมีการเคลื่อนไหว และหมุนข้อเท้าช้าๆ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนลงสู่เท้าได้ดียิ่งขึ้น
- พกเอกสารสำคัญ ติดตัวตลอดการเดินทาง
ในการเดินทางแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพกพาสำเนาระเบียนฝากครรภ์ติดตัวตลอดการเดินทาง ซึ่งในสมุดจะมีข้อมูลทุกอย่างรวบรวมไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ประวัติการตั้งครรภ์ ผลการรักษา รวมถึงเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉิน
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ควรมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย คุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจร่างกาย เพราะครรภ์คุณแม่อาจได้รับการกระทบกระเทือน และมีความเสี่ยงของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรืออาจคลอดก่อนกำหนดได้