9 วิธีแก้อาการเมารถ รู้ไว้ช่วยได้เยอะ เพราะว่าอาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นใน ทำงานไม่ประสานกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งกันจนมีอาการเมารถตามมา ซึ่งอาการเมารถสามารถป้องกันและบรรเทาอาการได้
อาการเมารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุใดบ้าง?
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือ อาการเมารถเกิดจาก ประสาทการทรงตัวของเราทำงานไม่สมดุลกัน สมองจึงได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งจนมีอาการเมารถ โดยอาจเกิดแรงกระตุ้น จากการที่รถขับเหวี่ยงไปมา, เดินทางขึ้นเขา บนถนนคดเคี้ยวเป็นเวลานานเกินไป, นั่งเรือที่โคลงเคลงตามคลื่นอยู่ตลอดเวลา, การโดยสารเครื่องบิน หรือแม้แต่การเล่นเครื่องเล่นผาดโผนในสวนสนุก อาการเมารถสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลต่อไปนี้ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเมารถได้มากกว่าคนทั่วไป คือ
- เด็กอายุ 2-12 ปี
- ผู้ที่มีประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวเร็ว
- ผู้ป่วยไมเกรน
- ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงรับการบำบัดด้วยฮอร์โมน
- ผู้ที่มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด
- ผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหืด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
วิธีแก้อาการเมารถ
- นั่งแถวหน้าของรถ
เพราะจะเป็นตำแหน่งที่มีการเหวี่ยง การกระเด้งน้อยกว่าช่วงท้ายรถ การนั่งแถวหน้าของรถ จะทำให้ประสาทหูและตารับรู้การเคลื่อนไหวของรถ ไปพร้อมๆกับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเกิดอาการเมารถได้น้อยกว่า
- มองไปข้างหน้าไกลๆ และตั้งศีรษะให้ตรง
ขณะเดินทาง ควรใช้สายตามองไปยังสิ่งที่อยู่ในระยะไกลๆ และอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว เป็นครั้งคราว เพื่อให้ประสาทสัมผัสค่อยๆ ปรับตัวและรับรู้ว่าตำแหน่งของตัวเอง ขณะที่รถกำลังเคลื่อนไหว นอกจากนี้ควรตั้งศีรษะให้ตรง อย่าให้หัวพิงหรือกระแทกกับส่วนรถที่เคลื่อนไหว และไม่ควรฟุบหน้าหรือเอนศีรษะ เพราะจะทำให้ยิ่งรู้สึกเหมือนถูกแกว่ง หรือเหวี่ยงไปมาตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้มากกว่าเดิมได้
- ไม่ควรก้มหน้าอ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์
การจดจ่อสายตาอยู่กับที่นานๆ จะทำให้มีอาการปวดหัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์เพราะจะยิ่งทำให้ประสาทตาและร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลการเคลื่อนไหวได้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย เป็นที่มาของอาการคลื่นไส้ และอาเจียนตามมา
- ทานผลไม้รสเปรี้ยว/จิบน้ำอัดลม
แนะนำทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขาม มะนาว มะม่วง เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะ แต่ไม่ควรทานเยอะเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะได้ นอกจากนี้ การจิบน้ำอัดลมเป็นระยะก็สามารถช่วยลดอาการมวนท้องที่เกิดจากการเมารถได้เช่นกัน
- ระบายอากาศเป็นครั้งคราว
สามารถเปิดหน้าต่างได้เป็นครั้งคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พัดเอาลมข้างนอกเข้ามาในตัวรถ เพราะออกซิเจนจะช่วยให้สมองปลอดโปร่งขึ้น ลดอาการเวียนหัวได้เป็นอย่างดี
- ไม่ควรสูบบุหรี่
อย่างที่ทราบกันดี สำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ว่า กลิ่นของควันบุหรี่นั้นมีกลิ่นที่แรงแค่ไหน หากมีการสูดดม เพียงเวลาไม่นาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้ โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวใดๆ
- ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มเกินไป
เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะอาเจียนออกมา ควรงดอาหารที่มีกลิ่นแรง อาหารมันๆ เพราะจะทำให้ย่อยยาก และควรงดอาหารรสจัด เพราะหากเกิดการอาเจียน จะยิ่งทำให้แสบคอและจมูก
- ยาดม ยาหม่อง
เรียกได้ว่า เป็นของคู่กันกับอาการวิงเวียนศีรษะเลยก็ว่าได้ โดยสูดดมเมื่อเริ่มมีอาการ จะช่วยบรรเทาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว หากเป็นยาหม่องน้ำ แนะนำลองทาที่ขมับทั้งสองข้าง หรือทาที่บริเวณหน้ารูจมูกบางๆ
- ยาแก้เมารถ
หากวิธีข้างต้นเคยทำแล้วแต่ไม่สามารถลดอาการได้ แนะนำกินยาแก้เมารถ ก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง โดยเฉพาะเด็ก อาจเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าคนในช่วงวัยอื่น
ยาฮิสตามีน : เป็นยาที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาไซไคลซีน ยาไดเมนไฮดริเนต เป็นต้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกง่วงนอนได้
ยาสโคโปลามีน : มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเมารถ โดยตัวยาจะอยู่ในรูปของพลาสเตอร์สำหรับแปะลงบนผิวหนัง ใช้แปะไว้ด้านหลังใบหู ก่อนเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง
นอกจากเรื่องเมารถ ก่อนเดินทางก็ควรตรวจเช็ครถและเปลี่ยนถ่ายของเหลวให้พร้อม